RPR non reactive คือ อะไร? โรคซิฟิลิสกับการตรวจหาเชื้อ

RPR non-reactive คืออะไร เกี่ยวข้องอย่างไรกับโรคซิฟิลิส ประเด็นที่เราจะพูดถึงในวันนี้ ได้แก่

  • รู้จักโรคซิฟิลิสเบื้องต้น
  • การตรวจหาโรคซิฟิลิส
  • การรักษาโรคซิฟิลิส

 

รู้จักโรคซิฟิลิสเบื้องต้น

หากจะพูดถึงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ นอกจากโรคเอชไอวี หนองในแท้/เทียมแล้ว อีกหนึ่งโรคที่ต้องพูดถึงเลยก็คือ โรคซิฟิลิส ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า Treponema pallidum ซึ่งเป็นแบคทีเรียชนิดเกลียว

 

เมื่อได้รับเชื้อแล้ว จะทำให้เกิดอาการผิดปกติต่าง ๆ ขึ้น  เช่น ในระยะแรก จะมีแผลที่อวัยวะเพศ หรือบริเวณที่ลับ ลักษณะเป็นแผลริมแข็ง เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะไม่รู้สึกเจ็บหรือปวด มีผื่นขึ้นตามตัว เป็นต้น ซึ่งอาการเหล่านี้สามารถหายไปได้เอง ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้มีการรักษา

 

โดยปกติแล้วโรคซิฟิลิส จะแบ่งเป็น 3 หรือ 4 ระยะด้วยกัน คือ ระยะที่หนึ่ง ระยะที่สอง ระยะแฝง และระยะสุดท้าย ในระยะที่สอง-ระยะแฝง จะแสดงอาการหรือไม่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล อีกทั้งอาการที่เกิดขึ้นมักจะหลากหลายไม่ตายตัว และสามารถหายไปได้เอง เมื่อไม่มีการรักษาทิ้งไว้นานหลายปี เชื้อแบคทีเรียจะลุกลาม ไปทั่วร่างกาย ทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับสมอง ระบบประสาท ระบบหัวใจ อันตรายถึงขั้นหูหนวก เป็นอัมพาต และเสียชีวิตได้

 

การตรวจหาโรคซิฟิลิส

การวินิจฉัยโรคจะใช้การตรวจเลือด เพื่อตรวจหาระดับภูมิคุ้มกันของร่างกายต่อซิฟิลิส โดยจะมีค่าแสดงระดับความมาก-น้อย สามารถแบ่งวิธีการตรวจซิฟิลิสออกเป็น 2 แบบด้วยกัน คือ

  1. การตรวจหาภูมิคุ้มกันที่ไม่เฉพาะเจาะจงต่อเชื้อแบคทีเรีย Treponema pallidum (นิยมใช้สำหรับการตรวจคัดกรอง)

– RPR : Rapid plasma reagin

– VDRL : Venereal disease research laboratory

 

  1. การตรวจหาภูมิคุ้มกันต่อเชื้อแบคทีเรีย Treponema pallidum (นิยมใช้ในการตรวจยืนยันผล)

– FTA-ABS : Fluorescent treponemal antibody absorption

– TPPA : Treponemal pallidum particle agglutination Test

– TPHA : Treponema pallidum hemagglutination assay

– ICT : Immunochromatography test

 

การตรวจวินิจฉัยจะตรวจคัดกรองก่อน หากผลตรวจออกมาพบว่าเป็นบวก คือ มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ จะให้ตรวจอีกครั้งด้วยวิธีการตรวจที่ใช้สำหรับยืนยันผล

 

RPR non-reactive คืออะไร?

– RPR หรือ Rapid plasma reagin คือ หนึ่งในวิธีที่ใช้ในการตรวจคัดกรองโรคซิฟิลิส โดยตรวจหาภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดี (Antibody) ที่ไม่เฉพาะเจาะจงต่อเชื้อแบคทีเรีย Treponema pallidum

 

– หลักการ RPR คือ ทดสอบเลือดของผู้ป่วย เพื่อหา Reagin antibody ที่ส่วนใหญ่แล้วร่างกายมักจะสร้างขึ้นมา เพื่อต่อสู้หรือกำจัดเชื้อ หากตรวจพบก็จะให้ผลเป็นบวก (Reactive) และหากตรวจไม่พบก็จะให้ผลเป็นลบ (Non-Reactive)

 

– ถึงแม้ว่า RPR จะเป็นวิธีที่ได้รับการยอมรับและเป็นวิธีแรกที่นิยมใช้ตรวจในกรณีที่สงสัยว่าเป็นซิฟิลิส แต่อย่างไรก็ตามการตรวจพบ Reagin ในเลือดอาจเกิดขึ้นจากโรคติดเชื้ออื่น ๆ ได้เช่นกัน

ดังนั้น การทดสอบ RPR เพียงอย่างเดียวไม่สามารถให้การวินิจฉัยที่ชัดเจนได้ จึงนิยมใช้ในการตรวจคัดกรองเท่านั้น หาก RPR ผลเป็นบวก (Reactive) ก็จะดำเนินการตรวจด้วยวิธีตรวจหาภูมิคุ้มกันต่อเชื้อแบคทีเรีย Treponema pallidum เพื่อยืนยันผลอีกครั้ง

 

– ตรวจซิฟิลิส RPR non reactive คือ ตรวจไม่พบ Reagin Antibody หมายถึง ไม่พบการติดเชื้อซิฟิลิส

แต่ในกรณีของผู้ที่เคยติดเชื้อซิฟิลิส และรักษาหายดีแล้ว การตรวจคัดกรองด้วย RPR จะให้ผลเป็น Non-Reactive แต่การตรวจด้วยวิธียืนยันนั้นจะให้ผลเป็น Reactive เนื่องจากร่างกายมีการสร้างแอนติบอดีที่เฉพาะเจาะจงต่อเชื้อแบคทีเรีย Treponema pallidum ขึ้นมา เพื่อต่อสู้หรือกำจัดเชื้อแบคทีเรียดังกล่าว

เมื่อมีการรักษาจนหายดีแล้ว ร่างกายจะสร้างแอนติบอดีที่เฉพาะเจาะจงนี้ในปริมาณที่น้อยลง และในที่สุดจะหยุดสร้าง แต่อย่างไรก็ตามร่างกายยังคงจดจำและกักเก็บแอนติบอดีที่เฉพาะเจาะจงนี้ไว้ ทำให้เมื่อตรวจซิฟิลิสด้วยวิธียืนยันจะให้ผลเป็น Reactive ได้นั่นเอง

 

การรักษาโรคซิฟิลิส

                  โรคซิฟิลิสนั้น จะสามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาฆ่าเชื้อกลุ่มเพนนิซิลินฉีดเข้ากล้าม หากติดเชื้อมาไม่นาน อยู่ในระยะแรกก็จะฉีดเพียงไม่กี่ครั้ง แต่หากติดเชื้อมานานแล้วก็จะต้องฉีดยาหลายครั้ง การรักษาจะนานขึ้น ฉีดยาไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะตรวจพบว่าระดับภูมิคุ้มกันลดลงมากกว่า 4 เท่า

 

“จะเห็นได้ว่า หากเราตรวจพบว่ามีการติดเชื้อซิฟิลิสเร็ว ก็จะเข้าสู่กระบวนการรักษาได้เร็ว อาจตรวจพบการติดเชื้อในระยะแรก ซึ่งส่งผลดีต่อการรักษา ที่สามารถรักษาให้หายได้โดยง่าย”

 

ดังนั้น ท่านใดที่กังวลคิดว่าตนเองมีโอกาส หรือเคยมีโอกาสที่เสี่ยงจะได้รับการติดเชื้อซิฟิลิส เราแนะนำว่าให้รีบตรวจโดยเร็วที่สุด เพราะเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายได้ ยิ่งตรวจพบเร็ว ยิ่งดีต่อการรักษา หากกังวลไม่กล้าที่จะไปตรวจที่สถานพยาบาล ท่านสามารถหาซื้อชุดตรวจซิฟิลิสด้วยตนเองที่ได้มาตรฐาน แบบ Rapid Test ชุดตรวจอย่างง่าย ใช้งานง่าย รู้ผลรวดเร็ว มาตรวจคัดกรองด้วยตนเองก่อนได้

 

ซึ่งแนะนำว่าให้ตรวจหลังจากได้รับความเสี่ยงมาอย่างน้อย 1 เดือน หากผลออกมาเป็นบวก ให้เดินทางไปตรวจคัดกรองที่สถานพยาบาลได้ทันที หากผลออกมาเป็นลบ ให้ตรวจคัดกรองด้วยตนเองอีกครั้งที่ระยะเวลาเสี่ยงมากกว่า 3 เดือน เพื่อเช็คผลว่าตรงกับรอบแรกหรือไม่

 

แต่สำหรับท่านใดที่มีพฤติกรรมเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อซิฟิลิสบ่อย ๆ สามารถซื้อไปตรวจได้ทุก ๆ เดือน หรือ ทุก ๆ 3 เดือน